My treatment

วิธีการรักษามะเร็งเต้านม

เมื่อพูดถึงวิธีการรักษามะเร็งเต้านมอาจฟังดูเป็นเรื่องที่น่ากลัว และมีคำถามมากมายที่อยากจะถามเกี่ยวกับตัวเลือกต่างๆ ที่มี ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพนั้น คุณจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ในการรักษามะเร็งเต้านมแต่ละประเภท เพื่อมองหาการรักษามะเร็งเต้านมที่เหมาะสมสำหรับคุณ

ข้อควรรู้:

  • การรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายจะใช้เวลานาน ทำให้ในระหว่างนี้คุณอาจต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีต่างๆ หลายรูปแบบ
  • เป้าหมายของการรักษาคือการป้องกันไม่ให้มะเร็งแพร่กระจายไปมากกว่าเดิม (ระยะเจริญเติบโต) บรรเทาอาการ และช่วยให้คุณแน่ใจได้ว่าจะมีสุขภาพแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้1,2
  • แจ้งแพทย์ให้ทราบถึงผลข้างเคียงจากการรักษา เพื่อช่วยให้แพทย์จัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงนั้นได้

การรักษามะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจาย

การรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายนั้นจะขึ้นอยู่กับประเภทและตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง ซึ่งการรักษานั้นอาจจะสามารถรักษาพร้อมกันหลายประเภทหรือทีละประเภทก็ได้เช่นกัน

การรักษาเพื่อควบคุมมะเร็งมีด้วยกัน 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ เคมีบำบัด การบำบัดด้วยยาต้านฮอร์โมน (หรืออีกชื่อคือฮอร์โมนบำบัด) และการบำบัดด้วยยามะเร็งแบบมุ่งเป้า2 รังสีรักษา รวมถึงการผ่าตัดในบางกรณีที่จำเป็นต้องควบคุมโรคหรืออาการที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว การรักษาเพื่อบรรเทาอาการของมะเร็งหรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งในร่างกายนั้น บางครั้งอาจมีการใช้สารเพิ่มความคงตัวของกระดูก เช่น ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตส์หรือดีโนซูแมบซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูก โดยเฉพาะกรณีที่เป็นมะเร็งกระดูกจากการแพร่กระจาย3,4.

  • เคมีบำบัด
  • รังสีรักษา
  • การบำบัดด้วยยาต้านฮอร์โมน
  • การบำบัดด้วยยาแบบมุ่งเป้า
  • สารเพิ่มความคงตัวของกระดูก
  • การผ่าตัด
  • เคมีบำบัด

    ยาเคมีบำบัดเป็นสารที่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม สารเหล่านี้ก็สามารถสร้างความเสียหายแก่เซลล์ปกติได้ด้วย และนับเป็นผลข้างเคียงอย่างหนึ่ง ยาเคมีบำบัดจะมีลักษณะเป็นเม็ดยาที่สามารถนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้2 ยาบางตัวจะให้ทางหลอดเลือดดำและอาจจำเป็นต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล2
    เงื่อนไขการเข้ารับเคมีบำบัดจะขึ้นอยู่กับสุขภาพ ยาที่เคยได้รับก่อนหน้านี้ และประเภทของมะเร็งที่เป็น เคมีบำบัดมีอยู่หลายประเภท2 หากได้รับผลข้างเคียงของยาเคมีบําบัดมากเกินไป โปรดปรึกษาแพทย์5

  • รังสีรักษา

    รังสีรักษาเป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเข้ามาช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งได้ รังสีรักษาอาจนำมาใช้ควบคุมมะเร็ง และยังสามารถนำมาใช้บรรเทาอาการปวดกระดูกในกรณีที่การบำบัดด้วยยาไม่อาจบรรเทาได้ทันเวลาได้อีกด้วย สำหรับผลข้างเคียงของการฉายรังสีเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายในกระดูกนั้นจะมีอาการเจ็บปวดถือเป็นเรื่องปกติของการรักษา2
    สำหรับการใช้รังสีรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายมักดำเนินการครั้งเดียวหรือฉายระยะสั้นๆ เป็นเวลา 2-3 วัน หากมีสุขภาพที่แข็งแรงพอ คุณสามารถเข้ารับการรังสีรักษาในฐานะผู้ป่วยนอก และไม่จำเป็นต้องค้างที่โรงพยาบาล แต่หากต้องเข้ารับเคมีบำบัดด้วย แพทย์อาจสั่งให้นอนโรงพยาบาล ผลข้างเคียงของรังสีรักษาจะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ได้รับการรักษา

  • การบำบัดด้วยยาต้านฮอร์โมน (หรือฮอร์โมนบำบัด)

    การบำบัดด้วยยาต้านฮอร์โมนจะใช้รักษามะเร็งเต้านมที่ไวต่อฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน มะเร็งเต้านมบางประเภทจะถูกฮอร์โมนกระตุ้นให้เจริญเติบโต เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน การบำบัดด้วยยาต้านฮอร์โมนจะขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนที่เฉพาะเจาะจงในร่างกายผ่านการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนหรือผ่านการขัดขวางตัวรับของฮอร์โมนเหล่านี้2,6 ยาบำบัดรูปแบบฮอร์โมนต่างๆ จะทำงานแตกต่างกัน การบำบัดด้วยยาต้านฮอร์โมนสำหรับมะเร็งเต้านมนั้น มักมีลักษณะเป็นเม็ดยา แต่บางตัวสามารถฉีดยาได้ ซึ่งสามารถทำการรักษาพร้อมกับเคมีบำบัดหรือรักษาเพียงอย่างเดียวได้เช่นกัน2,6

    เงื่อนไขการเข้ารับการบำบัดด้วยยาต้านฮอร์โมนสำหรับมะเร็งเต้านมและประเภทของการรักษาจะขึ้นอยู่กับช่วงวัยหมดประจำเดือน ช่วงเวลาในการวินิจฉัยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อใด และประเภทของการรักษาที่คุณเข้ารับสำหรับมะเร็งเต้านมระยะแรก (หากคุณเคยได้รับการวินิจฉัยและการรักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก)2,6 หากคุณเคยได้รับการบำบัดด้วยยาต้านฮอร์โมนมาก่อน คุณก็ยังสามารถใช้วิธีนี้ได้อีกครั้ง

  • การบำบัดด้วยยาแบบมุ่งเป้า

    สำหรับการรักษามะเร็งเต้านมด้วยยามุ่งเป้านั้นจะสามารถใช้เพื่อขัดขวางเส้นทางที่เซลล์มะเร็งเต้านมใช้ในการแบ่งตัว ซึ่งการบำบัดด้วยยามุ่งเป้านั้น แพทย์จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบประเภทของมะเร็งและจะมีการกำหนดความเหมาะสมของการบำบัดด้วยยาแบบมุ่งเป้าด้วย2
    การบำบัดในการรักษามะเร็งเต้านมประเภท HR บวกที่เจาะจงวิถีการส่งสัญญาณจากการทำงานฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ2
    การบำบัดที่เจาะจงตัวรับ HER2 มีอยู่หลายแบบเช่นกัน2 ยาเหล่านี้จะใช้ได้ผลกับผู้ที่มีค่า HER2 สูงในเซลล์มะเร็ง แต่จะใช้ไม่ได้ผลหากเป็นเซลล์มะเร็งที่ไม่มีโปรตีนดังกล่าว

  • สารเพิ่มความคงตัวของกระดูก

    ยาเหล่านี้มักใช้เมื่อมีมะเร็งแพร่กระจายในกระดูก ซึ่งทำงานโดยช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและลดการสูญเสียกระดูก
    ยาเหล่านี้สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดและลดโอกาสกระดูกแตกหักระยะยาว3 โดยจะมีลักษณะเป็นเม็ดยาหรือการฉีดยา

  • การผ่าตัด

    การผ่าตัดมักไม่ค่อยนำมาใช้รักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย2 การผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่ต้องผ่าตัดเนื้อเยื่อมะเร็งเพื่อช่วยปรับการทำงานของร่างกายหรือบรรเทาอาการเจ็บปวด
    หากคุณเข้ารับการผ่าตัด อาจสามารถรับการบำบัดด้วยยาหรือรังสีรักษาร่วมด้วยได้


การรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายแบบเฉพาะเจาะจงมีแบบใดบ้าง

ตัวเลือกการรักษาอาจมีความแตกต่างกันตามประเภทของมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย1,7 เช่น แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการบำบัดด้วยยาต้านฮอร์โมนพร้อมกับการบำบัดมะเร็งเต้านมด้วยยามุ่งเป้าหากมะเร็งของคุณเป็นประเภท HR บวก หรือการบำบัดด้วยยาแบบเจาะจง HER2 สำหรับมะเร็งประเภท HER2-positive ปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีการรักษาใดเหมาะสมกับคุณมากที่สุด

การรักษาที่ดีที่สุดสำหรับฉันคืออะไร?

ในการรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายนั้นไม่ได้มีวิธีการรักษาที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียว ซึ่งแต่ละแบบนั้นอาจได้ผลกับคนหนึ่ง แต่อาจไม่ได้ผลกับคนหนึ่ง2

ปัจจัยที่ส่งผลให้การรักษามะเร็งเต้านมให้ตอบสนองต่อการการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ประเภทของมะเร็งเต้านม ตำแหน่งของกงารแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง การรักษามะเร็งเต้านมเดิม และการรักษาโรคอื่นๆ ในปัจจุบัน

การรักษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมะเร็งอาจเกิดการดื้อยาที่ใช้รักษาอยู่ได้ และคุณอาจต้องเปลี่ยนวิธีการรักษาเพื่อให้ตอบสนองต่อเซลล์มะเร็ง
แพทย์อาจสั่งหยุดการรักษาของคุณด้วยสาเหตุอื่นได้ คุณควรปรึกษาแพทย์หากเกิดผลข้างเคียงมากเกินไป

ผลการรักษามะเร็ง

แต่ละคนจะตอบสนองกับการรักษามะเร็งต่างกันไป ดังนั้นจึงบอกได้ยากว่าเซลล์มะเร็งของคุณจะตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ แพทย์อาจดำเนินการทดสอบหลายประเภทไปเรื่อยๆ เพื่อตรวจสอบว่าการรักษามะเร็งเต้านมของคุณเป็นไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่ สิ่งที่แพทย์จะตรวจสอบคือ:

ขนาดของเนื้องอกและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

แพทย์อาจดูจากภาพถ่ายหรือภาพสแกนว่าเนื้องอกหรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งนั้นกำลังเจริญเติบโต ยุบลง หรือยังคงมีขนาดเท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT) หรือการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

ระดับของสารบ่งชี้มะเร็ง

สารบ่งชี้มะเร็งเป็นโปรตีนหรือสารอื่นๆ ที่มักพบในเลือดเมื่อเกิดเนื้องอกในร่างกาย8 การพบสารบ่งชี้มะเร็งที่มีระดับสูงมักหมายความว่าในร่างกายมีโรคร้ายอยู่

แพทย์จะใช้ระดับของสารบ่งชี้มะเร็งในการตรวจสอบประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งเต้านมของคุณ8

ระดับเซลล์มะเร็งในกระแสเลือด

เซลล์มะเร็งในกระแสเลือด (CTC) เป็นเซลล์มะเร็งที่หลุดออกจากเนื้องอกหลักและไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด8

CTC เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกขึ้นใหม่ (การแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง) ที่ตำแหน่งอื่นๆ ในร่างกาย แพทย์อาจเฝ้าตรวจสอบระดับ CTC ในกระแสเลือดของคุณเพื่อดูว่าคุณตอบสนองต่อการรักษาได้ดีแค่ไหน8

การพัฒนาของการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งใหม่

เพื่อความมั่นใจในการตรวจสอบว่าเซลล์มะเร็งจะไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ทำให้ต้องมีการสแกนร่างกายเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT) หรือการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ก็ตาม

ระยะเวลาในการรักษามะเร็งเต้านม

การรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายจะใช้เวลานาน เนื่องจากการรักษาในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการควบคุมมะเร็งของคุณและป้องกันไม่ให้อาการเลวร้ายขึ้น รวมถึงช่วยควบคุมอาการของการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง การรักษาของคุณอาจมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ และคุณอาจได้รับการรักษาแบบเดิมหลายครั้ง โดยสลับกับการรักษาอื่นๆ

ในการรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายนั้นไม่ได้มีวิธีการรักษาที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียว ซึ่งแต่ละแบบนั้นอาจได้ผลกับคนหนึ่ง แต่อาจไม่ได้ผลกับคนหนึ่ง2

ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ กรณีที่มีผลข้างเคียงของการระษามะเร็งเต้านมผิดไปจากเดิม หรือเกิดความรู้สึกไม่สบายตัว เพื่อให้แพทย์หาวิธีการลดผลข้างเคียงหรือปรับวิธีการรักษา

ผลข้างเคียงของการรักษา

ผลข้างเคียงมักจะขึ้นอยู่กับประเภทของการรักษา2 และยังมีการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งผลข้างเคียงนั้นจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

หากรับเคมีบำบัดด้วยการฉีดยา ผลข้างเคียงมักจะออกฤทธิ์ในช่วงวันแรกๆ ของการรักษา คุณควรวางแผนรับมือจนกว่าคุณจะคุ้นชินกับอาการ

บางคนอาจไม่ได้รับผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งเต้านม หากคุณไม่เจอผลข้างเคียงใดๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าการรักษามะเร็งเต้านมของคุณไม่ได้ผล

ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบถึงผลข้างเคียงอยู่เสมอ เพื่อปรับการรักษามะเร็งให้ดียิ่งขึ้นและลดผลข้างเคียงจากการรักษา นอกจากนี้แล้วผลข้างเคียงนั้นถือเป็นสัญญาณการเจริญเติบโตของมะเร็งอีกด้วย

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยและวิธีจัดการ

ผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งเต้านมที่มักพบได้บ่อยจะมีอาการเหนื่อยล้า เจ็บปวด คลื่นไส้และอาเจียน ท้องร่วง ผมร่วง เม็ดเลือดขาวต่ำ และน้ำหนักขึ้นหรือน้ำหนักลด

อาการเจ็บปวด

หากมีอาการเจ็บปวด ต้องแจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบ เพื่อให้จ่ายยาและแนะนำวิธีบรรเทาอาการเจ็บปวดนั้น3

คุณอาจบันทึกเกี่ยวกับอาการเจ็บปวดไม่ว่าจะเป็นความถี่หรือลักษณะของอาการที่คุณรู้สึก เช่น รู้สึกเจ็บมากกว่าเดิมตอนกลางคืนหรือเวลาทำอะไรบางอย่าง การบรรเทาอาการเจ็บปวดอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกในด้านต่างๆ ได้อย่างมาก เช่น ช่วยลดความเหนื่อยล้า ความกังวล และความเศร้า รวมถึงช่วยให้นอนหลับและมีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดียิ่งขึ้น

อาการเจ็บปวดจากโรคมะเร็งมักใช้ยารักษาประกอบกับการบำบัดเพิ่มเติม2 เช่น การฝังเข็ม การนวดบำบัด และเทคนิคการผ่อนคลาย สามารถช่วยให้คุณควบคุมอาการเจ็บปวดได้ การออกกำลังกายก็มีส่วนช่วยเช่นกัน

ความเหนื่อยล้า

ความเหนื่อยล้าไม่ได้เป็นเพียงแค่ความรู้สึกเหนื่อยทั่วไป แต่เป็นการอ่อนเพลียไม่มีแรงอย่างสิ้นเชิง อาการนี้อาจเกี่ยวข้องกับผลกระทบจากมะเร็งโดยตรงหรือจากผลข้างเคียงของการรักษา หรืออาจเกี่ยวกับรูปแบบการนอนหลับของคุณที่เปลี่ยนแปลงไปประกอบกับความเครียดและความกังวลที่เกิดขึ้น3.

เคล็ดลับการจัดการกับความเหนื่อยล้า2,3:

  • กินอาหารที่มีประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ
  • ออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำ
  • วางแผนกำหนดการในแต่ละวันของคุณและทำแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเท่านั้น
  • ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ และครอบครัว
  • หยุดพักหรืองีบหลับระยะสั้นๆ
  • แจ้งแพทย์หรือพยาบาล เนื่องจากพวกเขาอาจจะสามารถจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการเหนื่อยล้าได้

อาการคลื่นไส้และอาเจียน

อาการคลื่นไส้และอาเจียนที่ไม่ได้รับการดูแลสามารถทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าและนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงกว่านี้ได้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ หากมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน เพื่อจ่ายยาสำหรับควบคุมอาการเหล่านั้นได้

เคล็ดลับสำหรับลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน2,3:

  • ออกกำลังกายเบาๆ และสูดอากาศสดชื่น
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด มัน หรือหวานจัด และพยายามรับประทานอาหารรสจืดที่ย่อยง่าย
  • ขิงและมะนาวสามารถลดอาการคลื่นไส้ได้
  • รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ อย่างสม่ำเสมอ

ปัญหานอนหลับยากและอาการนอนไม่หลับ

ปัจจัยที่สามารถขัดขวางการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพนั้นมีตั้งแต่อาการเจ็บปวด ความเครียด ผลข้างเคียงของการรักษา ความกังวล และความเศร้า คุณอาจรู้สึกว่าตนเองนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกบ่อยๆ หรือตื่นเช้าเกินไป

ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวันของคุณ แจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อมีปัญหานอนหลับยาก เนื่องจากพวกเขาอาจจะมียาที่ช่วยให้นอนหลับได้

คล็ดลับสำหรับการนอนหลับ2,3:

  • พยายามนอนตามเวลานอนปกติของคุณ
  • ลดเสียงรบกวนและแสงไฟในห้องของคุณ
  • ลองใช้เทคนิคการผ่อนคลาย นั่งสมาธิ หรือทำจิตใจให้ว่าง
  • ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ ก่อนเข้านอน (แต่ให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน)
  • เขียนบันทึกประจำวันข้างเตียงเพื่อบันทึกความคิดหรือความกังวลที่ทำให้คุณนอนไม่หลับ

การไม่มีสมาธิและการเปลี่ยนแปลงทางการรับรู้

อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือทางอารมณ์ที่อาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาก็ได้3 คุณจำเป็นต้องรายงานปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสมาธิให้แพทย์หรือพยาบาลทราบเสมอ

อาการผมร่วง

หากต้องเข้ารับการรักษาแบบเคมีบำบัด อาจพบกับปัญหาผมบาง ผมแห้ง หรือผมร่วง3 ในบางครั้งการบำบัดด้วยยาต้านฮอร์โมนก็สามารถทำให้ผมบางได้เช่นกัน

สำหรับเคมีบำบัดบางประเภทหมวกระบายความร้อนอาจเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันผมร่วงได้ สามารถสอบถามแพทย์ว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลในการรักษาของคุณหรือไม่ รวมไปถึงมีบริการหมวกระบายความร้อนอีกด้วย

ปัญหาร่วงอาจเป็นปัญหาที่น่าลำบากใจ บางทีคุณอาจจะอยากตัดผมสั้นหากคุณรู้ว่าตนเองต้องเจอกับอาการผมร่วงอย่างแน่นอน2 ซึ่งช่วยให้คุณสามารถควบคุมสถานการณ์ได้บ้าง แทนที่จะรอให้เส้นผมร่วงเอง เลือกวิธีการที่คุณคิดว่าเหมาะสมสำหรับตนเอง

แหล่งอ้างอิง

  1. National Breast Cancer Foundation Australia (2019). Stage 4- Metastatic Breast Cancer. Retrieved from https://nbcf.org.au/about-national-breast-cancer-foundation/about-breast-cancer/stages-types-treatment-breast-cancer/stage-4-metastatic-breast-cancer Accessed February 12, 2019.
  2. Australian Government Cancer Australia (September 2017) Metastatic Breast Cancer. Retrieved from https://breast-cancer.canceraustralia.gov.au/types/metastatic-breast-cancer Accessed February 12, 2019.
  3. National Cancer Institute (2019). Breast Cancer Treatment -Patient Version. Retrieved from https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/side-effects/pain/pain-pdq Accessed February 11, 2019.
  4. National Cancer Institute (2019). NCI Dictionary of Cancer Terms. Retrieved from https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-terms Accessed February 11, 2019.
  5. National Cancer Institute (2019). Chemotherapy to Treat Cancer. Retrieved from https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/chemotherapy Accessed February 12, 2019.
  6. National Cancer Institute (2019). Hormone Therapy for Breast Cancer. Retrieved from https://www.cancer.gov/types/breast/breast-hormone-therapy-fact-sheet Accessed February 12, 2019.
  7. NCCN Clinical Practice Guidelines in Oncology Breast Cancer Version 1.2018 – March 20,2018. https://www.nccn.org/patients
  8. Breastcancer.org (2018) Blood Marker Tests. Retrieved from https://www.breastcancer.org/symptoms/testing/types/blood_marker Accessed February 12, 2019.